Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

ประโยชน์ของต้นเพกา

ดอกเพกา  ใช้ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือกินกับลาบได้ครับ  (รสขมอย่าบอกใครเชียว)
เพกา  หรือ  ลิ้นฟ้า ผักพื้นบ้านที่นิยมกิน ฝักกันถ้วนทั่วทุกภาค โดยเฉพาะคนพื้นบ้านภาคเหนือและภาคอีสาน  ในแต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป  ภาคกลาง  ภาคใต้เรียก "ฝักเพกา"  ภาคเหนือเรียก "มะลิ้นไม้" "ลิ้นไม้"  ภาคอีสานเรียกว่า "หมากลิ้นฟ้า" "ฝักลิ้นฟ้า" "ฝักลิ้นงู" "ลิ้นไม้" "ลิ้นฟ้า"  นั่นเป็นเพราะฝักเพกามีลักษณะแบนยาว ห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอดต้นที่สูงเสียดฟ้า
       เพกา เป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติได้ง่าย เมื่อเมล็ดแก่แผ่นเบาบางปลิวตามแรงลมร่วงหล่นตามพื้นดิน ได้น้ำจากสายฝนชุ่มฉ่ำ เจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่อยู่ตามเชิง หุบเขา ริมห้วย ริมลำธาร ตามท้องทุ่งริมทาง ตามป่าละเมาะใกล้หมู่บ้าน ออกดอกออกฝัก ดังนั้นชาวบ้านจึงเก็บมากินโดยไม่ต้องซื้อหาแต่อย่างใด

เพกา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oroxylum indicum (Linn.) Vent. เป็นไม้ยืนต้นสูงชะลูดขนาดกลาง แตกกิ่งก้านบนยอดสูง ใบออกเป็นช่อใหญ่อยู่ที่ปลายกิ่ง มีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตรงยอด มีสีม่วงอมแดง บางทีก็สีน้ำตาลคล้ำ ผลออกเป็นฝักแบนยาวคล้ายดาบ กว้างประมาณ 2.4-9 ซม. ยาว 60-120 ซม. ปลายฝักแหลม ตรงกลางขอบมีรอยโป่งเล็กน้อย เมื่อฝักแก่ รอบข้างของฝักจะปริแตก ข้างในมีเมล็ดมากมาย  เมล็ดมีลักษณะแบน มีเยื่อบางใสหุ้มอยู่โดยรอบเมล็ด
เพกา  คนจีนเรียกว่า "โซยเตียจั้ว"
ใช้เป็นส่วนผสมตัวหนึ่งของน้ำจับเลี้ยง ดื่มแก้กระหายคลายร้อน ดับร้อนในได้เป็นอย่างดี ส่วนเปลือกของต้นเพกา ผู้เฒ่าผู้แก่จะเอามาต้มน้ำให้แม่ลูกอ่อนดื่ม ช่วยขับน้ำคาวปลา ให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ดับพิษโลหิต และบำรุงเลือด  นอกจากนี้ชาวบ้านยังเอาเปลือกเพกาไปเผาไฟ จากนั้นก็นำมาแช่น้ำเย็น เอาน้ำนั่นแหละดื่มแก้ร้อนในได้ชะงัดนัก

          เพกา  กินเป็นผักได้อร่อย ตั้งแต่ยอดอ่อน ดอกอ่อน และฝักอ่อน โดยจะมีให้เก็บกินกันตลอดปี จะมีมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว  วิธีการเก็บฝักเพกาต้องใช้ไม้สอยเอา เพราะฝักอยู่ยอดต้น เลือกที่มีเปลือกสีเขียว ฝักไม่ใหญ่มาก เมื่อสอยลงมาใช้เล็บจิกได้ แสดงว่าฝักอ่อนกำลังกิน
          ยอดกับดอก เวลาจะกินก็เพียงนำไปต้ม หรือลวกเสียก่อน กินเป็นผักจิ้มน้ำพริก  ส่วนฝักอ่อนนั้นคนทางเหนือจะเอาไปเผาไฟ ใช้ไฟแรงสักหน่อยจนเปลือกพองไหม้ทั่ว และฝักเพกาอ่อนตัว แล้วแช่น้ำลอกเอาเปลือกที่ไหม้ออก จึงนำไปต้มจนสุกนุ่มอีกครั้ง รสขมในฝักเพกาจะอ่อนลง แต่ทางภาคอีสานนิยมเผาแล้วแช่น้ำลอกเอาเปลือกที่ไหม้ออกเท่านั้น จากนั้นหั่นเป็นชิ้นตามขวาง หนาพอประมาณ นิยมกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก และกินแกล้มกับลาบอย่างยิ่ง เพราะมีรสขมนิดๆ อมรสหวาน หน่อยๆ เนื้อนุ่มไปกันได้ดีกับอาหารรสจัด

นอกจากจะเผาต้มจิ้มน้ำพริกแล้ว อาจเคี่ยวหัวกะทิมาราด หรือต้มลงในกะทิจนเข้าเนื้อฝักเพกา เนื้อจะนุ่มมันอร่อย  ฝักเพกายังใช้เป็นผักใส่ในแกง คั่ว ยำ ผัด  หรือทำแกงอ่อมปลาดุกใส่ฝักเพกาแทนใบยอก็อร่อย จะออกรสขมอ่อนๆ เหมือนใบยอนั่นแหละ    ฝักเพกามีสรรพคุณช่วยขับลม ขับเสมหะ ถ้ากินบ่อยนักก็ไม่ดี จะทำให้เป็นต้อเนื้อที่ตาได้

เรียบเรียงข้อมูลโดยmusa

รายการบล็อกของฉัน